6 ที่เที่ยวสังขละบุรี ยลโฉมเมืองมากเสน่ห์ ดินแดนต้องมนต์ที่น่าหลงใหล ของเมืองกาญจนบุรี
สังขละบุรี เป็นอำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีพื้นที่ตั้งเป็นชายแดนอยู่ทางสุดด้านตะวันตกของไทย แม้จะเป็นเมืองที่ไม่ได้ใหญ่โต ทว่ากลับเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจมากมาย มีชื่อเสียงในด้านท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะประวัติความเป็นมาอันยาวนานทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงทำให้ที่นี่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของอดีตที่ทับถมกันอยู่อย่างเข้มข้น ต่อเนื่องวิถีการดำเนินชีวิตมาจนถึงปัจจุบันที่ยังมีร่องรอยแห่งอดีตกาลหลงเหลืออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นความงดงามของชุมชนอันหลากหลาย ธรรมชาติที่นี่ยังน่าดึงดูดใจ และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในอำเภอสังขละบุรี เรียงร้อยกันออกมาเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าที่น่าติดตามอย่างมากทีเดียว
สะพานมอญได้ชื่อว่า คนมาเที่ยวอำเภอสังขละบุรีต้องมา Cr By Pantip.com topic/32896975
การเดินทางไปเที่ยวอำเภอสังขละบุรี
การเดินทางมุ่งสู่อำเภอสังขละบุรี ซึ่งเป็นจุดที่ติดต่อกับชายแดนประเทศพม่า มีพื้นที่ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอทองผาภูมิราวๆ 75 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเข้าสู่สังขละบุรีได้หลายช่องทาง
จากกรุงเทพฯ หากเป็นรถยนต์ส่วนตัว ให้เดินทางมุ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ซึ่งเป็นถนนเพชรเกษม จะผ่านจังหวัดนครปฐม แล้วเจอสะพานข้ามไปสู่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นให้ขับต่อไปตามถนนหลวงหมายเลข 323 อีกประมาณ 8 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยก ตรงไปยังอำเภอเมืองกาญจนบุรี มุ่งหน้าต่อไป จะพบสี่แยกแก่ง ต่อด้วยอำเภอทองผาภูมิ เมื่อพบสามแยก ให้เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่อำเภอสังขละบุรี
ส่วนการเดินทางไปเที่ยวด้วยรถสาธารณะ สามารถขึ้นรถได้ที่สายใต้ ป้ายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ค่ารถโดยสารอยู่ที่ 79 บาท ใช้เวลาเดินทางราว 2-3 ชั่วโมงก็สามารถถึงที่ขนส่งของจังหวัด ต่อรถสายกาญจนบุรี-ทองผาภูมิ ค่าโดยสารอยู่ที่ 62 บาท เพื่อไปลงที่ท่ารถสังขละบุรี โดยใช้ระยะเวลาราวๆ 3-4 ชั่วโมง จากนั้นก็ใช้บริการวินมอเตอร์ไซต์รับจ้างในราคา 10-15 บาท เข้าที่พัก หรือเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ก็ได้ โดยราคาก็จะแตกต่างกันไปตามระยะทางนั่นเอง
(ให้เช็คค่าโดยสารอีกครั้งก่อนไปเที่ยว เพราะราคาอาจจะปรับขึ้นลงได้ตามสภาวะปัจจัยต่างๆ)
เที่ยวสะพานมอญ – สถานที่เที่ยวสำคัญอีกแห่งของสังขละบุรี
ชื่อเสียงของสะพานมอญคือ จุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อได้ลองย่ำเท้าเข้ามาถึงเมืองสังขละบุรี ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายแรกๆ นอกจากชื่อเรียกที่คุ้นหู ที่นี่ยังมักถูกเรียกกันว่า “สะพานไม้อุตตมานุสรณ์” ด้วย เพราะผู้ดำเนินการจัดสร้างคือ หลวงพ่ออุตตมะ
สะพานมอญหน้าหนาวยามเช้าจะมีหมองลงบรรยากาศสวยงามไปอีกแบบ Cr By Pantip.com /topic/32896975
สะพานมอญหน้าหนาวยามเช้าจะมีหมองลง Cr By Pantip.com /topic/32896975
เอกลักษณ์ที่น่าสนใจคือ วัสดุที่นำมาใช้ทำสะพานเป็นไม้ทั้งหมด มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศ ซึ่งเป้าหมายในการสร้างครั้งนั้น ก็เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางสัญจรไปมาหากันระหว่างคนไทย มอญ และกะเหรี่ยง อีกทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านของกลุ่มชนชาติทั้ง 3 ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้พบเห็นวิถีชีวิตอันเรียบง่ายผ่านสะพานสายนี้ที่ชาวบ้านใช้ในการสัญจรไปมาอยู่โดยตลอด
สะพานมอญ สวยทั้งกลางวันและกลางคืน Cr By Pantip.com
ในปัจจุบันสะพานมอญ ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพราะมีความสวยงามที่ดูเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติรอบด้าน โดยเฉพาะช่วงเย็นย่ำที่พระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า แสงสีส้มนวลสะท้อนจับต้องกับท้องน้ำ ชวนให้สะพานมอญงดงามกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัวทีเดียว
วัดหลวงพ่ออุตตมะ – มาเที่ยวสังขละบุรี ต้องมาวัดนี้
วัดหลวงพ่ออุตตมะ มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี สวยงามด้วยวิหารที่สร้างเอาไว้ริมน้ำ ผสมผสานความอ่อนช้อยของศิลปะการก่อสร้างพระพุทธรูปหินอ่อน อันเป็นเสน่ห์ที่น่าจดจำมิเลือนหาย วัดแห่งนี้คือ วัดที่หลวงพ่ออุตตมะใช้เป็นสถานที่จำพรรษา ชาวบ้านรู้จักวัดนี้กันเป็นอย่างดี โดยได้ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2499 เป็นการร่วมสร้างระหว่างหลวงพ่ออุตตมะและชาวบ้านทั้งสามชนชาติ ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน จนกลายเป็นวัดแห่งนี้ขึ้นมา
Cr By thai.tourismthailand.org
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างส่วนของศาลาวัดขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ด้วย แม้ว่าวัดแห่งนี้จะยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการกับทางกรมการศาสนา จึงถือว่าเป็นเพียงสำนักสงฆ์ในทางวิชาการ ทว่าสำหรับชาวบ้านที่นี่คือวัด ศูนย์รวมจิตใจที่ทุกคนให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก นอกจากบรรยากาศที่ชวนน่าค้นหา เต็มไปด้วยกลิ่นอายความเงียบสงบ ร่มเย็นที่อบอวลเคียงคู่ไปกับความสวยงามของธรรมชาติแล้ว วัดวังวิเวก์การามแห่งนี้ยังมีจุดเด่นที่ตั้งอยู่บนเนินสูง มีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำซองกาเลีย และแม่น้ำรันตี
เจดีย์พุทธคยา – เจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวสังขละบุรี
เพราะเมืองสังขละบุรีเต็มไปด้วยความงดงามทั้งทางธรรมชาติ และเรื่องราวของประวัติศาสตร์ เจดีย์พุทธคยาจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจ ที่นักท่องเที่ยวอยากเข้าไปพบเห็นด้วยตาตัวเองถึงความงดงามและบรรยากาศอันเงียบสงบ อบอวลไปด้วยกลิ่นอายความศักดิ์ที่เข้มข้น ยอดเจดีย์อร่ามสวยงามเมื่อยามจับต้องกับแสงตะวัน ประดับด้านบนด้วยฉัตรทองคำหนักถึง 400 บาท ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยาของจริง โดยมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้เชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกามาประดิษฐานเอาไว้ ซึ่งเป็นส่วนของนิ้วหัวแม่มือของพระพุทธเจ้า มีขนาดเล็กเทียบได้กับเมล็ดข้าวสาร กลายเป็นสถานที่สักการบูชาของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามา
Cr By Pantip.com/topic/37121824
ความคึกคักของที่นี่จะเกิดขึ้นทุกๆ ช่วงเดินกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ จะมีการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ให้ชาวบ้านได้เข้ามาร่วม ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนา การแข่งขันตามประเพณี รวมไปถึงการแสดงทางวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก เช่น การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และการรำแบบชาวมอญ เป็นต้น
Cr By Pantip.com/topic/37121824
ถนนคนเดินสังขละบุรี – มีเฉพาะเย็นวันเสาร์
สถานที่น่าสนใจและดูน่าตื่นเต้นสำหรับนักท่องเที่ยว เห็นจะหนีไม่พ้นแหล่งช้อปปิ้งประจำเมืองแห่งนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “ถนนคนเดินสังขละบุรี” ไม่เพียงแค่ความน่าสนใจของสินค้า หน้าตาของอาหาร หรือการจัดร้านในบรรยากาศบ้านๆ เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์เท่านั้น ทว่ายังมีกลิ่นอายของวิถีชีวิตผู้คนให้นักท่องเที่ยวได้เห็นความสวยงามเหล่านั้นได้ ที่นี่จะมีการขายของขึ้นทุกช่วงเย็นวันเสาร์ เต็มไปด้วยสินค้าท้องถิ่น อาหารการกินแบบชาวมอญ ชาวไทย และชาวกะเหรี่ยง
ส่วนอื่นๆ ยังมีสินค้าหัตถกรรม งานฝีมือ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่อาจจะคุ้นตาและแปลกตาปะปนกันไปตามวัฒนธรรมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นงาน OTOP เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้าน เหมาะสำหรับซื้อไปฝากเป็นของที่ระลึก ร้านค้าตั้งเรียงรายกันมากกว่า 100 ร้าน ประดับประดาด้วยแสงไฟประดิษฐ์คละเคล้ากันจนดูเป็นบรรยากาศที่สุดแสนจะโรแมนติกท่ามกลางความมืด หากมีโอกาสนักท่องเที่ยวอาจจะได้สัมผัสกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผสมผสานกันระหว่างไทย มอญ พม่า และกะเหรี่ยงชวนน่าดึงดูดใจจนลืมเวลากันไปเลยทีเดียว
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก : facebook.com/ถนนคนเดินสังขละบุรี-157862679568906 5
พิธีตักบาตรมอญ
ยามเช้ากับความสวยงามของธรรมชาติและวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาอย่างพิธีตักบาตรมอญ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นชาวบ้านออกมาใส่บาตรพระกันในช่วงเวลาเช้า บริเวณตลาดมอญ หากไม่ใช่คนในพื้นที่ ชาวมอญก็พร้อมจัดเตรียมสำรับสำหรับตักบาตรเอาไว้จำหน่ายเป็นชุดๆ ให้ผู้ที่สนใจร่วมทำบุญ ราคาอยู่ที่ 99 บาทเท่านั้น
ตักบาตรมอญ Cr By pantip.com /topic/34533061
เมื่อถึงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า พระก็จะเดินมายังจุดบิณฑบาต รอบๆ จะมีชาวบ้านที่เตรียมตัวรอใส่บาตรกันอยู่ทั่วบริเวณ ดูเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น เต็มไปด้วยความสุขอันแสนอิ่มเอิบ เรียบง่ายและไม่เร่งเร้าไปกับเวลา เฉกเช่นชาวเมืองที่ชีวิตเต็มไปด้วยความวุ่นวายรีบเร่ง จะว่าสังขละคือ เมืองที่ช่วยให้นักเดินทางได้หยุดพัก จัดการกับเวลาอันพันเกรียวแน่นให้คลายออกก็ว่าได้ เมื่อตักบาตรเสร็จ ก็ถึงเวลาออกไปหาเมนูอาหารเช้ากินรองท้อง รับรองว่าจะได้ความฟินในสไตล์ชนบทที่ชาวเมืองโหยหา รอยยิ้มชาวบ้านที่อบอุ่น ร้านอาหารในแบบง่ายๆ แต่อิ่มอร่อยในราคาถูก นั่งกินไปดูการดำเนินชีวิตของชาวบ้านไป ก็เพลินตากันไปอีกแบบ
ตักบาตรมอญ Cr By pantip.com /topic/34533061
วัดใต้น้ำ – แหล่งเที่ยวอันซีนประจำเมืองสังขละบุรี
สิ่งอัศจรรย์น่าสนใจ ดูเป็นเหมือนสิ่งก่อสร้างที่ถูกจัดพื้นที่ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบ Unseen Thailand เพราะเป็นภาพแปลกตาที่หาชมได้ที่สังขละบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ลักษณะของวัดใต้น้ำ หรือเรียกกันว่าวัดจมน้ำ จึงไม่ใช่สถานที่ก่อสร้างที่ตั้งใจทำออกมาให้อยู่ในลักษณะนี้ แต่เกิดขึ้นเองตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา กลายเป็นซากโบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ มีตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาจนดูน่าตื่นตาตื่นใจ
หากเดินทางมาชมในช่วงหน้าแล้ง น้ำด้านหลังเขื่อนจะลดลงไปเป็นอย่างมาก สามารถเดินเท้าเข้าไปเที่ยวชมโบสถ์โบราณกันได้อย่างใกล้ชิด แต่หากเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ก็ทำใจว่าจะได้เห็นภาพบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถเดินเข้าตัวโบสถ์ได้ เพราะมีสายน้ำล้อมรอบ เห็นแค่เพียงตัวโบสถ์โผล่พ้นน้ำขึ้นมา พอให้รู้ว่านี่คือสิ่งก่อสร้างอันน่าอัศจรรย์ใจ เดือนไหนน้ำมากก็จะได้เห็นเพียงแค่ยอดด้านบนของหอระฆัง กลายเป็นเมืองบาดาลไปโดยปริยาย
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 6 ที่เที่ยวสังขละบุรี ยลโฉมเมืองมากเสน่ห์ ดินแดนต้องมนต์ที่น่าหลงใหล ของเมืองกาญจนบุรี
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น