เที่ยวย้อนอดีต 1,000 ปี เวียงท่ากานเมืองโบราณ จังหวัดเชียงใหม่
เป็นคนเชียงใหม่ตั้งแต่กำเนิด ได้รับรู้ว่า เมืองเชียงใหม่ มีอายุเจ็ดร้อยกว่าปี แต่วันนี้ เพื่อนชวนไปเที่ยวเมืองโบราณ อายุ 1,000 ปี!!!! ห๊าาาาา มีด้วยหรอ!!!! เมืองเชียงใหม่มัน เจ็ดร้อยกว่าปีเองนะ แล้ว 1,000 ปีนี่มันคือตรงไหน?????
วันนี้เราจะพาไปค้นหาคำตอบกันค่ะ ว่า เมืองโบราณ 1,000 ปี ของเมืองเชียงใหม่ อยู่ที่ไหน แล้วมีอะไรที่น่าสนใจที่นั่น!!!!!
เมืองโบราณอายุ 1,000 ปี ที่พูดถึง มีชื่อว่า “เวียงท่ากาน” ไม่ใช่เวียงกุมกามนะคะ สะกดถูกต้องแล้วค่ะ เวียงท่ากาน เป็นเมืองโบราณแห่งที่ราบ อำเภอสันป่าตอง ที่ตั้ง บ้านท่ากาน ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ จากเมืองเชียงใหม่ เราตั้งจีพีเอสไป ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน ประมาณ 28 กิโลเมตร ก็ไม่ไกลนะคะ ขับรถประมาณ 30 นาทีเอง
เวียงท่ากาน เป็นเมืองโบราณ ที่มีคูเมือง-กำแพงเมืองล้อมรอบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 500 x 700 เมตร ก็ไม่เล็ก ไม่ใหญ่จนเกินไป วันนี้เราจะพากันไปดูให้ทั่วเลยค่ะ คำขวัญเวียงท่ากาน “เมืองเก่าเวียงท่ากาน ปาฏิหาริย์พระนอนใหญ่ หนองสะเรียมลือนาม สาวงามสันป่าตอง”
เมื่่อเราไปถึง ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน มีเจ้าหน้าทีดูแล และให้คำแนะนำ แจ้งว่า มีบริการรถรางนำเที่ยว พร้อมกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานที่นี้ได้เป็นอย่างดี โดยมีค่าบริการ 500 บาท ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ไม่แพงเลยนะคะ พวกเราตอบตกลง โดยก่อนที่มัคคุเทศก์และคนขับรถรางจะมา เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เนื่องจากช่วงนี้ เป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลลำใย ลุงคนขับรถรางไปเก็บลำใยอยู่ ขอให้รอ ประมาณ 10 นาที พวกเราก็รอได้อยู่แล้วค่ะ เพราะ ณ บริเวณนี้ เป็นจุดที่น่าสนใจเหมือนกันค่ะ พวกเราเข้าไปเยี่ยมชมภายในศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน และส่วนหนึ่งของเมืองโบราณ คือเป็นที่ตั้ง ของกลุ่มโบราณสถานวัดกลางเมือง หรือ วัดกลางเวียง ซึ่งเราก็ขอเยี่ยมชมและถ่ายรูป 2 จุดที่น่าสนใจนี้ไปพลางๆ ก่อนที่ลุงๆ จะพาเราไปในส่วนต่างๆ ของโบราณสถานเวียงท่ากานกัน
ภายในศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน จะเป็นที่เก็บวัตถุโบราณต่างๆ เช่น ดินเผาประดับอาคาร กระเบื้องดินมุงหลังคา ฯลฯ รวมถึงโครงกระดูกม้า และโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ซึ่งในตอนแรกเราไม่รู้ว่ากระดูกดังกล่าวเป็นกระดูกของใคร จนลุงมัคคุเทศก์ท้องถิ่นมาถึง ก็ได้ให้ความรู้ว่า มันคือกระดูกของเชลยศึกชาวเงี้ยว หรือชาวไทยใหญ่นั่นเอง ซึ่งถูกค้นพบ ณ บริเวณกำแพงวัดกลางเวียงจำนวนมาก เนื่องจากเสียชีวิตจากโรคอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า ในสมัยนั้น ซึ่งแต่ละศพ จะพบเป็นท่านอนในสภาพนอนคุดคู้ ส่วนโครงกระดูกม้า ก็อายุนับพันปีเหมือนกัน เป็นม้าสายพันธุ์มองโกเลีย ที่สันนิษฐานว่าจะเป็นม้าที่คนจีนในสมัยราชวงศ์หยวนของจีน มาติดต่อค้าขาย หรืออาจจะเป็นเครื่องบรรณาการ และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์คือ โถลายครามสมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งที่เก็บในพิพิธภัณฑ์เป็นของจำลอง แต่ของจริง ที่มีสภาพสมบูรณ์มากๆ เก็บไว้ในวัดท่ากาน ติดกับพิพิธศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากานนี่เอง
โบราณวัตถุ อายุ 1,000 ปี เวียงท่ากาน
โครงกระดูกม้า อายุ 1,000 ปี
โครงกระดูกเชลยศึกเงี้ยว
ชมภายในศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากานแล้ว ก็ไปชมโบราณสถานวัดกลางเวียงกันต่อค่ะ ลุงคนขับรถรางยังไม่มา นักสำรวจอย่างเราๆ ก็เดินชมกันไปก่อน อิอิ วันที่เราไปหญ้าสูงไปนิดอิอิ เวลาเดินเข้าไป ก็จะคันหน่อยๆ 555 แต่ก็หาหวั่นเกรงไม่ ต่างคน ต่างกรูกันไปเก็บบันทึกรูป โบราณสถาน 1,000 ปีแห่งนี้กันอย่างตื่นเต้น ด้วยความสนใจใคร่รู้ วัดกลางเวียง หรือวัดร้างหลวงที่ชาวบ้านเรียกกัน มีขนาดใหญ่สุดในเวียงท่าการ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ค้นพบซากเจดีย์ หลากหลาย มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำฐานแปดเหลี่ยม แบบหริภุญไชย เจดีย์ทรงกลมสมัยล้านนา วิหาร และซุ้มประตูโขง
พาเด็กน้อย น้องสุกี้ มาเปิดประสบการณ์ เที่ยวเมืองโบราณ 1,000 ปี เวียงท่ากาน
เมื่อเราถ่ายรูปจุดนี้ทั่วกันแล้ว ก็ประจวบเหมาะ ลุงคนขับรถรางมาพอดี เสียงตะโกนจากลุงมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเรียกให้มานั่งรถรางชมโบราณสถานเวียงท่ากานในจุดอื่นๆ กันต่อ เมื่อขึ้นรถกันแล้ว ก็พร้อม!!! ออกเดินทางกันเลยคร้าาาาา
มัคคุเทศก์ท้องถิ่น คุณลุงสุวิทย์ อาทิตย์ ใจดีมว้ากกกกก
บริการรถรางนำเที่ยว 500 บาท
การแนะนำตัว และเริ่มเล่าความเป็นมาของเวียงท่ากานแล้วจ้า ตั้งใจฟังกันน๊าาาาา
ก่อนรถรางจะแล่นพาเราชมเมืองโบราณเวียงท่ากาน ลุงมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ก็ได้แนะนำตัว ลุงชื่อ สุวิทย์ อาทิตย์ เป็นคนท้องถิ่น เกิดและโตที่บ้านท่ากาน และช่วยชาวบ้านในการร่วมกันดูแลโบราณสถานแห่งนี้ รถรางแล่นออกมาได้สักพัก เราก็ถาม ลุงสุวิทย์ มัคคุเทศก์ท้องถิ่น ว่าเวียงกุมกาม กับเวียงท่ากาน ที่ไหนเก่ากว่ากัน มัคคุเทศก์ท้องถิ่นก็ได้แจ้งว่า เวียงท่ากาน อายุเก่าแก่กว่า เวียงกุมกามมากหลายร้อยปีเลยทีเดียว เวียงท่ากาน มีอายุ 1,300 กว่าปีแล้ว แต่ป้ายที่ปักไว้บริเวณหน้าวัดกลางเวียง ยังคงเขียนเป็น “เวียงท่ากานโบราณสถาน 1,000 ปี” แล้วมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ก็ได้เริ่มอธิบายความเป็นมาของเวียงท่ากาน ดังนี้ เวียงท่ากาน สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรหริภุญชััย โดยชือท่ากาน มีที่มาตามความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า ครั้งกระนั้นมีกาเผือกจะบินมาลงที่หมู่บ้านนี้ แต่เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่ากาเผือกบินลงตรงไหน จะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น จึงพากันขับไล่ หรือต๊ะกาเผือกตัวนั้น ให้บินไปที่อื่น จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อหมู่บ้าน “ต๊ะก๋า” ต่อมาเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อจากภาษาพูด “ต๊ะก๋า” เป็น “ท่ากาน” เป็นภาษาเขียนแทน
และความเป็นมาของเวียงท่ากาน ยังปรากฏในเอกสารพงศาวดารอื่นๆ เช่นตำนานพื้้นเมืองเชียงใหม่ ว่า เดิมเวียงท่ากาน ชื่อว่า “เวียงพันนาทะการ” โดยพระยามังราย ได้นำต้นโพธิ์ 1 ใน 4 ต้นที่นำมาจากลังกาทวีป มาปลูก สันนิษฐานว่าจะเป็นต้นโพธิ์ที่อยู่ในกลุ่มวัดต้นโพธิ์ ในปัจจุบัน
โบราณสถาน ที่พบได้เวียงท่ากาน มีดังนี้
- วัดกลางเมือง หรือ วัดกลางเวียง
- วัดอุโบสถ
- วัดต้นโพธิ์
- วัดหัวข่วง
- วัดพระเจ้าก่ำ
- วัดต้นกอก
- วัดหนองหล่ม
- วัดน้อย
- วัดป่าเป้า
- วัดป่าไผ่รวก
- กู่ไม้แดง
รถรางแล่นมาเรื่อยๆ เราเพลิดเพลินกับการให้ความรู้เกี่ยวกับเวียงท่ากาน ของลุงสุวิทย์ มัคคุเทศก์ท้องถิ่นยิ่งนัก วันนี้อากาศเย็นสบายๆ แดดไม่ร้อน ฟ้าครึ้มๆ แต่ฝนก็ไม่ตก ทำให้การนั่งรถรางฟินสุดๆ ผ่านเข้าถนนตามหมู่บ้าน ซึ่งเต็มไปด้วยต้นลำใย ลุงสุวิทย์มัคคุเทศก์ท้องถิ่นใจดี บอกเก็บกินได้ ชาวบ้านไม่หวง ปีนี้ลำใยออกเยอะ อิอิ เสร็จเรา ลำใยหวานๆ ชิมกันสักลูกสองลูก 5555 เราผ่านวัดต่างๆ โดยการขับรถรางแบบเชี่ยวชาญ ลัดเลาะไปเรื่อยๆ
เรานั่งรถรางผ่านแต่ละวัดไปด้วยความตื่นเต้น ดูไป พร้อมกับฟังความเป็นมา ประวัติ จากมัคคุเทศก์ผ่านไมโครโฟน เสียงดังฟังชัด ได้ยินกันทั่วถึง ขึ้นๆ ลงๆ รถราง เพื่อแวะถ่ายรูป กันไป ทริปนี้บอกได้คำเดียวว่าคุ้มสุดๆ ผ่านตรงไหน มัคคุเทศก์ ก็ให้ข้อมูลแบบที่เราไม่ต้องถามกันเลยทีเดียว วัดนั้นวัดนี้เป็นอย่างไร ตรงนั้นตรงนี้มีที่มาเป็นอย่างไร อธิบายแม้กระทั่งต้นไม้ และหนองน้ำทั่วบริเวณเวียงท่ากาน และสิ่งหนึ่งที่มัคคุเทศก์ ได้บอกมาว่า ตรงโบราณสถานต่างๆ เหล่านี้ ชาวบ้านไม่มีใครกล้ารุกล้ำ หรือเข้าไปครอบครอง เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าฝืนเข้าไป หรือไปล่วงเกินสถานที่เหล่านี้ จะทำให้เกิดเรื่องไม่ดีกับครอบครัวได้ หรือเรียกว่า “ขึด” ในภาษาเหนือ ไม่ลุกล้ำแล้ว ยังช่วยกันดูแลด้วยนะคะ นับเป็นสิ่งที่ดีอย่างมากเลยล่ะค่ะ
ความเป็นมาของวัดบางแห่งที่เราพอจำได้คร่าวๆ ^^
วัดป่าเป้า ลุงสุวิทย์ เล่าว่า ชื่อมาจากต้นไม้สมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “ต้นเปล้า” แล้วแกก็ชี้ให้ดู ว่ารู้จักหรือเปล่า ส่ายหน้าสิคะ ไม่รู้จักเลย แต่หนึ่งในกลุ่มของเรารู้จักนะ แถมบอกว่า เคยได้กินด้วยแน่ะ โดยต้นเปล้า มีสรรพคุณช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ญี่ปุ่นใช้ใบเปล้าต้มแก้ปวดท้อง การเรียกชื่อวัดป่าเป้า จะเรียกไม่เหมือนต้นเปล้า อาจเป็นเพราะภาษาพูดกับภาษาเขียนที่ต่างกัน
วัดอุโบสถ ปัจจุบัน มีการทำอุโบสถใหม่ครอบของเดิมเอาไว้ แต่ยังใช้ใบเสมาเดิม เจดีย์ข้างอุโบสถ มีสภาพที่สมบูรณ์ที่่สุดในเวียงท่ากาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ แบบล้านนา
โบราณสถานแต่ละแห่ง แต่ละจุดน่าสนใจมากมาย ฟังมัคคุเทศก์ท้องถิ่นอธิบายความเป็นมาเกี่ยวกับโบราณสถานต่างๆ เพลินมากๆค่ะ แต่ถ้าจะให้ได้รู้ถึงความเป็นมาเต็มๆ ต้องมาฟังกันเองที่เวียงท่ากานแห่งนี้นะคะ รับรองลุงมัคคุเทศก์จัดเต็ม!!!!!
หากสนใจเข้าชม เวียงท่ากานโบราณสถาน 1,000 ปี สามารถเข้าชมได้ทุกวัน โทรติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กันได้ที่ โทร. 0 5321 9091-2, 0 5322 1047
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เที่ยวย้อนอดีต 1,000 ปี เวียงท่ากานเมืองโบราณ จังหวัดเชียงใหม่
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น